วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2553

0 ชนเผ่าพื้นเมืองภาคกลาง

ชนกลุ่มน้อยในท้องถิ่นภาคกลาง มีหลายเผ่าพันธุ์ อาทิ ลาวโข่ง กระเหรี่ยง ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ลาวพวน ในอำเภอบ้านหมี จังหวัดลพบุรี คนลาว ในเขต จังหวัดเพชรบุรี ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา มอญ ในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

ลาวโซ่งหรือผู้ไทดำ ได้อพยพลงมาจากถิ่นฐานเดิม คือ แถบบริเวณแคว้นสิบสองจุไทย และเข้าสู่ประเทศไทยด้วยเหตุผลทางสงครามหลายครั้ง ตั้งแต่สมัยธนบุรี จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ กล่าวคือการอพยพครั้งแรกได้เริ่มขึ้นราว พ.ศ.๒๓๒๒ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงโปรดฯให้ยกกองทัพไปตีเวียงจันทน์ พร้อมด้วยกวาดต้อนครอบครัวลาวโซ่งในเขตเมืองญวนลงมาด้วยเป็นจำนวนมาก และโปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี เป็นแห่งแรก เนื่องจากเมืองเพชรบุรี มีภูมิประเทศเป็นป่าเขามากมาย และภูมิประเทศคล้ายกับบ้านเมืองเดิม คือ เมืองแถง แคว้นสิบสองจุไทย ต่อจากนั้นในสมัยรัตนโกสินทร์ได้มีการกวาดต้อนครอบครัวลาวโซ่ง จากเมืองแถงลงมาถวายที่กรุงเทพฯ อีกหลายครั้งได้แก่ รัชสมัยรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๕ ซึ่งได้มีการกวาดต้อนครอบครัวลาวโซ่งเข้ามากรุงเทพฯ เป็นรุ่นสุดท้ายในราว พ.ศ.๒๔๓๐
และทุกครั้งที่ถูกกวาดต้อนมาครอบครัวลาวโซ่งต่างก็ได้ไปตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรีอีกเช่นกัน แต่ต่อมาบรรดาลาวโซ่งเหล่านี้ได้กระจายกันอพยพไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าพวกลาวโซ่งรุ่นเก่า มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะกลับไปยังถิ่นฐานเดิมของตนที่เมืองแถง แคว้นสิบสองจุไทยอีกครั้ง จึงพยายามเดินทางจากจังหวัดเพชรบุรีขึ้นไปทางเหนือเรื่อยไป ครั้นถึงฤดูฝนก็หยุดพักทำนาเพื่อหาเสบียงไว้เดินทางจนสิ้นฤดูฝนจึงเดินทางต่อไป กระทั่งบรรดาคนแก่ซึ่งเป็นผู้นำทางได้ตายจากไปในระหว่างการเดินทาง บรรดาลูกหลานก็ไม่สามารถเดินทางต่อไปให้ถึงที่หมายได้ จึงพากันตั้งหลักแหล่งไปตามระยะทางเป็นแห่ง ๆ ไป ทำให้มีกลุ่มลาวโซ่งกระจายกันอยู่ตามท้องถิ่นต่าง ๆ ในประเทศไทยหลายแห่งได้แก่จังหวัดเพชรบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร เลย รวมทั้งลาวโซ่งที่กระจายกันอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ อีกหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดกาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย ชุมพรและสุราษฏร์ธานีเป็นต้น
สำหรับชาวลาวโซ่งในจังหวัดสมุทรสาครนั้นพบว่า มีชาวลาวโซ่งได้เข้ามาตั้งรกรากและกระจายกันอยู่เฉพาะในบริเวณตำบลหนองสองห้อง อำเภอบ้านแพ้ว เพียงแห่งเดียวเท่านั้นด้วยมีหลักฐาน จากการสืบค้นด้านการติดต่อ และความสัมพันธ์ของบรรพบุรุษ และจากการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุชาวลาวโซ่ง ทำให้ได้ทราบเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของลาวโซ่งได้ว่า บรรพบุรุษของพวกตนแยกย้ายมาจากจังหวัดเพชรบุรี เพื่อเสาะหาแหล่งทำมาหากินแห่งใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ และได้พากันตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ตำบลหนองสองห้อง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร แต่จนทุกวันนี้และในปัจจุบันก็ยังคงติดต่อไปมาหาสู่กันเป็นประจำ ระหว่างญาติพี่น้องกลุ่มลาวโซ่งในจังหวัดเพชรบุรี

ภาษา ในด้านภาษากล่าวได้ว่า ลาวโซ่งมีภาษาพูดและภาษาเขียนที่เป็นของตนเองโดยเฉพาะ และจะใช้ภาษาลาวโซ่งพูดจาติดต่อในระหว่างพวกลาวโซ่งด้วยกัน แต่จะใช้ภาษาไทยภาคกลางพูดจาติดต่อกับคนนอกหรือคนไทยอื่น ๆ เช่นเดียวกันพวกมอญเช่นกัน

การแต่งกาย นอกจากจะนิยมแต่งชุดดำ หรือสีครามเข้มเป็นประจำ จนได้ชื่อว่า"ลาวทรงดำ" หรือ"ไทยทรงดำ"หรือ"ผู้ไทยดำ"แล้ว ยังมีการแต่งกายที่ถือว่าเป็นชุดใช้ในโอกาสพิเศษ สำหรับประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีเสนเรือน พิธีแต่งงาน พิธีศพ เป็นต้น คือสวมเสื้อฮีกับส้วงขาฮี ซึ่งเป็นกางเกงขายาวสำหรับผู้ชาย และเสื้อฮีกับผ้าถุงสำหรับหญิง ส่วนผมของหญิงลาวโซ่ง จะไว้ยาวและเกล้าเป็นมวยทรงสูง ไว้ที่ท้ายทอยดังภาพประกอบต่อไปนี้

แหล่งที่มา : http://www.moohin.com/001/001e002.shtml

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

free counters